 |
ภาพกิจกรรม |
 |
สพม.กท2 ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย ศธ. พัฒนาเครือข่ายการศึกษาเชิงพื้นที่ โรงเรียนนานาชาติกับโรงเรียนมัธยมฯ
วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม 2567 ดร.นภาพร พงษ์ขัน ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 พร้อมด้วย ดร.บัญชา ปลื้มอารมย์ รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 และคณะศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 โดยมีคณะผู้บริหารและครูจากโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 จำนวน 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง ในพระอุปถัมภ์ฯ และโรงเรียนมัธยมวัดธาตุทอง และโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร จำนวน 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนวัดมหาบุศย์ (พิทักษ์ถาวรคุณ) และโรงเรียนบ้านหนองบอน (นัยนานนท์อนุสรณ์) เข้าศึกษาดูงาน ณ BANGKOK INTERNATIONAL PREPARATORY & SECONDARY SCHOOL
ด้วยจุดเริ่มต้น พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการศึกษาของประเทศไทย จึงดำเนินการสร้างความร่วมมือโครงการ “โรงเรียนร่วมพัฒนา” (Partnership School Project) ระหว่างกระทรวงศึกษาธิการกับโรงเรียนบางกอกพัฒนาและโรงเรียนในสังกัด โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มอบหมายให้ ดร.เอกชัย กี่สุขพันธ์ เป็นประธาน และหม่อมหลวงปริยดา ดิศกุล เป็นที่ปรึกษาในโครงการนี้ ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเล็งเห็นว่าการศึกษาคือรากฐานสำคัญของการพัฒนาประเทศ ดังนั้น การพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพ จึงไม่ใช่เพียงหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนการพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยให้มีคุณภาพ ครอบคลุม และเท่าเทียม โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การยกระดับคุณภาพการศึกษา มุ่งพัฒนาผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางการศึกษา สร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ส่งเสริมการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน สร้างต้นแบบของการพัฒนาการศึกษาอย่างยั่งยืน
ในการนี้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร เขต 2 เล็งเห็นความสำคัญและดำเนินงานสนองนโยบายโดยการสร้างเครือข่ายทางการศึกษาเชิงพื้นที่กับโรงเรียนในสังกัดกับโรงเรียนเอกชนนานาชาติ คือ BANGKOK INTERNATIONAL PREPARATORY & SECONDARY SCHOOL ซึ่งความร่วมมือในการจัดการเรียนรู้ในครั้งนี้ทำให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยโรงเรียนในสังกัดจะได้รับการพัฒนาซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือจากในด้านต่างๆ คือ การดำเนินโครงการการวัดการประเมินผลแนวใหม่ ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้ประเมินศักยภาพของตนเองอย่างชัดเจน และการจัดการเรียนการสอน โดยใช้รูปแบบ Project-based learning (PBL) โดยใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์สู่การเกิดนวัตกรรม โดยจะดำเนินการเป็น Quick Win รวมทั้งจัดสภาพแวดล้อมเป็น Ecosystem อีกทั้งจากเครือข่าบความร่วมมือทำให้เกิดโครงการในอนาคตที่จะทำร่วมกันโดยครูในสังกัดจะได้เข้าร่วมอบรมด้าน Financial Literacy และ AI ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอน
|
โพสเมื่อ :
19 ธ.ค. 2567,09:56
อ่าน 169 ครั้ง
|